วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ฤาจะสิ้นยุคสื่อเก่า

(Is it the end of traditional media?)

สื่อดิจิตอลกำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็วและมีอิทธิพลกับวิถีชีวิตของคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ทั้งหลายพอเริ่มรู้ภาษาก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์อย่างคล่องแคล่วแล้ว Gen Y ก็ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงผ่านทางสื่อออนไลน์และมือถืออยู่ตลอดเวลา ไปจนถึง Gen X หรือ Baby Boomers ที่เกิดมาพร้อมกับสื่อดั้งเดิมอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หลายคนก็พลอยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนสามารถ Multi-task หรือทำงานหรือพูดคุย (Chat, Tweet, หรือ Direct Message) กับหลายๆคนได้ในเวลาเดียวกันไปเลย

จอคอมพิวเตอร์กลายเป็นจอที่คนรุ่นใหม่ (รวมทั้งรุ่นเก่าที่ทำตัวเหมือนคนรุ่นใหม่) ใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด ตามมาด้วยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แทนที่จะเป็นโทรทัศน์เหมือนสมัยก่อน การสื่อสารผ่านสื่อดิจิตอลจึงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคสะดวก และรวดเร็วกว่า แถมยังสามารถเลือกรับได้ตามความต้องการ (on-demand) อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้นักการตลาดจึงหันมาให้ความสนใจกับสื่อใหม่นี้มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการใช้งบโฆษณาที่เติบโตขึ้นตลอดเวลาสวนทางกับสื่อเก่า

อย่างไรก็ดีด้วยความที่เป็นสื่อใหม่เทคนิคการทำตลาดก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ความได้เปรียบเสียเปรียบนั้นไม่ได้อยู่ที่งบโฆษณา แต่อยู่ที่กลยุทธ์และวิธีการในการทำตลาดเข้าหากลุ่มเป้าหมายดังต่อไปนี้ครับ

1. หาผู้บริโภคให้เจอ (Reach out for the consumers)

โลกดิจิตอลแตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงตรงที่มีความเป็นอิสระไร้ขอบเขตดังนั้นผู้บริโภคจึงสามารถเลือกรับสื่อจากที่ใดก็ได้ทั่วโลก การหาผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายของเรานั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย การจะรอให้คนเข้าไปชมเว็บไซต์ของเรานั้นก็กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปโดยสิ้นเชิง เพราะเว็บรุ่นใหม่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสร้างช่องทาง (Channel) ในการรับข่าวสารของตนเองได้ เครือข่ายชุมชนออนไลน์ (On-line Social Network) อย่าง Hi-5, Facebook, LikedIn, และ Twitter เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

ผู้บริโภคจะทำการสมัครและเลือกรับข่าวสารที่ตนเองสนใจหรือจากเพื่อนที่ตนไว้วางใจเท่านั้น การสื่อสารจึงมีลักษณะเป็นแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ซึ่งควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีเครือข่ายใหญ่แห่งหนึ่งในบ้านเรา ทำการคิดเงินค่า วาซาบิ เมื่อลูกค้าขอเพิ่ม ผลปรากฏว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายในชุมชนออนไลน์ ถึงแม้ว่าทางร้านจะมีกระบอกเสียงของตนเองอยู่ในชุมชนออนไลน์ด้วยเช่นกันแต่กลับไม่อาจต้านทานกระแสของผู้บริโภคได้เลย

2. สร้างชุมชน (Build Community)

แน่นอนว่าการสร้างชุมชนย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน เพราะแทนที่จะต้องไปตามหาผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ก็จะกลายเป็นมีกลุ่มผู้บริโภคอยู่ในมืออยู่ตลอดเวลาการทำตลาดก็เป็นไปอย่างตรงประเด็น

ด้วยเหตุนี้เว็บไซต์ของแบรนด์ทั้งหลายจึงต้องการให้คนมา sign-up หรือสมัครเป็นสมาชิกรับข่าวสารข้อมูลของตน แต่ด้วยความที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้สินค้าชนิดเดียวหรือแบรนด์เดียวจึงกลายเป็นว่าหากต้องการติดตามแบรนด์ใดก็ต้องทำการเข้าหาเว็บไซต์และทำการสมัครใหม่ทุกครั้งจนกลายเป็นภาระของผู้บริโภค

แต่พอผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใช้ Social Media หรือสื่อชุมชนออนไลน์มาเป็นช่องทางหลักในการรับข่าวสาร แบรนด์ทั้งหลายจึงต้องปรับตัวหันมาสร้าง Fan Page หรือ Blog ของตัวเองให้ผู้บริโภคที่เป็นแฟนทั้งหลายคลิกเข้ามาติดตามกันได้อย่างสะดวก ข้อดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับ Social Media ก็คือผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะเข้า (Opt-in) หรือเลือกที่จะออก (Opt-out) จากการรับข่าวสารจากใครก็ได้ตลอดเวลา

3. ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง (Encourage 2-Way Communication)

ข้อได้เปรียบของสื่อดิจิตอลก็คือสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับผู้บริโภคได้ตลอดเวลาการตลาดบนสื่อนี้จึงควรมีลักษณะ Dynamic หรือสร้างความน่าสนใจและมีชีวิต เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เล่นเกมส์หรือร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆได้ตลอดเวลา

เมื่อเร็วๆนี้บริษัทในบ้านเราแห่งนี้ได้ใช้ทวิตเตอร์สำหรับ ทวีตบริการ ที่อยู่ และโทรศัพท์ ตามนามบัตร ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลทางเดียวและเป็นแบบมิติเดียว แทนที่จะเป็นการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจให้กับผู้ติดตาม จนกลายเป็นกรณีศึกษาของการใช้สื่อที่ลักษณะแบบนายสั่งให้ทำ แต่ขาดความเข้าใจในธรรมชาติของสื่อครับ

สำหรับการสร้างกิจกรรมที่น่าสนใจบนสื่อดิจิตอลหรือชุมชนออนไลน์ก็มีอยู่หลายลักษณะเช่นการให้แฟนๆเล่นเกมส์ตอบคำถามเพื่อชิงรางวัลชมตั๋วคอนเสิร์ท หรือ เมื่อเร็วๆนี้ @tonyfernandes CEO ของ AirAsia ก็เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเสนอเส้นทางบินที่น่าสนใจขึ้นมา หากเป็นเส้นทางที่ AirAsia ไม่ได้คิดมาก่อน และนำไปปฏิบัติจริงก็จะได้ตั๋วบินฟรีตลอดหนึ่งปี

ในกรณีของผมเองได้ลองให้ชาวทวีตภพ (ในชุมชนทวิตเตอร์) ได้ร่วมสนุกโดยการ Re-tweet หรือส่งข้อความ CD เพลงชุดที่ชื่นชอบเพื่อลุ้นรับ CD ชุดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีการตอบรับดีพอสมควรเลยทีเดียว มีการส่งต่อให้เห็นกันในทวีตเตอร์จนทำให้มีคนเห็นข้อความจำนวนมาก ที่สำคัญคือต้องสร้างกิจกรรมที่ผู้บริโภคอยากร่วมสนุกด้วยความสมัครใจและมีความพอดี โดยไม่เป็นการยัดเยียดขายของครับ

4. เชื่อมโยงกิจกรรมทั้งโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริง (Integrate on-line & off-line activities)

ถึงแม้สื่อใหม่จะมาแรงแต่สื่อเก่าก็ยังคงมีความสำคัญ การจัดกิจกรรมในรูปแบบ (On-ground activities) ที่ผู้บริโภคจะได้สัมผัสประสบการณ์จากแบรนด์จริงก็ยังคงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นสื่อต่างๆจึงต้องมีความเชื่อมโยงกัน ด้วยส่วนผสมที่ลงตัว ความยากก็อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ลงตัวนั่นละครับ คำถามคือวางงบอย่างไรจะได้ประโยชน์สูงสุด

ล่าสุดเครื่องสำอางค์แบรนด์หนึ่งในเมืองไทยได้ทำการเปิดตัวโฆษณาชุดใหม่ที่มีดาวค้างฟ้าอย่างคุณเพชรา เชาวราษฎร์ เป็นผู้แสดงนำบนโลกออนไลน์ พร้อมกับโฆษณาในโทรทัศน์แค่เพียงบางรายการ ผลปรากฏว่าดังกระหึ่มไปบนโลกออนไลน์และโลกของสื่อเก่าตามมาในวันถัดไป จนกลายเป็น Talk of the Town ในที่สุดครับ

5. อำนวยความสะดวก (Make it Convenient)

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของสื่อออนไลน์ก็ Availability ของข้อมูล ซึ่งหมายถึงว่าผู้บริโภคจะสามารถหาข้อมูลอะไร เมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการแข่งขันจึงอยู่ที่การอำนวยความสะดวก (Convenience) ให้ผู้บริโภคหาข้อมูลของเราได้ง่ายที่สุด และเป็นข้อมูลจากแหล่งที่เราต้องการ เช่นหากต้องการหาข้อมูลของแบรนด์เราก็ควรจะวิ่งไปที่ข้อมูลของเราโดยตรงแทนที่จะเป็น blog ของคนอื่นๆ หรือหากลูกค้าต้องการดาวน์โหลด content ของเราก็ควรจะเจอบริการที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการ แทนที่จะเป็นเว็บเถื่อนหรือดาวน์โหลดผี

ในโลกออนไลน์แบรนด์ต่างๆจึงต้องทำตัวเหมือนร้านสะดวกซื้อให้ผู้บริโภคเข้าออกง่ายๆ หาอะไรก็เจอ และเลือกชมเลือกซื้อสินค้าได้ตามใจชอบตลอดเวลา 24 ชั่วโมงครับ

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นฟังดูเหมือนง่าย แต่ที่จริงแล้วไม่ง่ายอย่างที่คิด สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะ Platform หรือวิธีการในการติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนารูปแบบอยู่ตลอดเวลา นักการตลาดจึงต้องตามให้ทันครับ

กุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องนี้ก็คือต้องทำการศึกษา ลงมือทำ และติดตามประเมินผลอยู่ตลอดเวลา ต้องลองผิดลองถูกกันบ้างก็ต้องยอม

หากยังคงลังเลหรือกลัวที่จะผิดพลาดอยู่ แบรนด์ของคุณก็อาจต้องหาชมในพิพิธภัณฑ์ แทนที่จะอยู่ตามเว็บหน้าจอมือถือ หรือร้านค้าใกล้บ้านท่านครับ

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ทวีตกระจาย (Tweet till you drop!!)

ทวีตเตอร์ได้กลายเป็นปรากฏารณ์ใหม่ของเครือข่ายชุมชนออนไลน์ จนมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนไล่หลัง Facebook มาติดๆ และกำลังจะมากกว่าจำนวนประชากรของประเทศไทยในเร็วๆนี้แล้วครับ

อะไรทำให้ (micro blog) ที่ใส่ข้อความได้เพียง 140 ตัวอักษรได้รับความนิยมรวดเร็วถึงเพียงนี้ทั้งนักการเมือง CEO ดารา เซเลบ นักการตลาด นักเรียน นักศึกษา ต่างติดทวิตเตอร์กันอย่างงอมแงม และมีผู้ติดตาม Twitter ของเขาเป็นจำนวนมาก

จุดด้อยของทวีตเตอร์ที่กลายเป็นจุดเด่นก็คือความที่พิมพ์ได้แค่ข้อความสั้นๆนี่ละครับ แรกๆคนที่ไม่คุ้นก็อาจจะไม่เข้าใจว่ามันจะได้เรื่องๆอะไร แต่พอใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะรู้สึกว่ามันสะดวกดี คล้ายๆกับการส่ง SMS ให้กันแต่เป็นการส่งให้กับทุกคนที่ติดตาม (follow) ทุกคนได้พร้อมๆกัน ซึ่งเข้ากับวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนยุคนี้ที่ไม่มีเวลาที่จะพูดหรือเขียนอะไรกันยาวๆครับ

ผลการสำรวจออกมาแล้วว่าข้อความที่ทวีต(ส่งให้กัน) ในทวีตเตอร์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องไร้สาระ ซึ่งก็อาจจะจริงเพราะอาจมีลักษณะพูดคุยกันในหมู่เพื่อนหรือวงสังคมเดียวกัน แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะการใช้งานทวิตเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเลือกของเราเอง What you tweet you are, What you follow you are เลือกรับเลือกพูดอะไรก็ได้อย่างนั้นครับ

การใช้งานทวีตเตอร์ให้เกิดประโยชน์นั้นก็มีอยู่หลายลักษณะด้วยกันดังต่อไปนี้ครับ

§ ใช้เพื่อเป็นการส่งข้อมูลข่าวสาร สำนักข่าวทั้งหลายทั้งไทยและเทศที่ปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิตัลต่างใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคติดตาม ถึงแม้ข้อมูลในทวิตเตอร์จะไม่ต้องเสียสตางค์ แต่แน่นอนว่าหากผู้บริโภคยังคงยึดมั่นอยู่กับแบรนด์นั้น โอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มเช่นคลิกเข้าไปในเว็บเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม หรืออื่นๆก็จะตามมาครับ

§ ใช้เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างแบรนด์ และทำประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มลูกค้า ลองเข้าไปในทวิตเตอร์แล้วค้นหาชื่อแบรนด์ที่คุณชื่นชอบดู คุณก็จะได้พบกับทวีตเตอร์ของแบรนด์ดังๆอย่างแน่นอน นักการตลาดเองก็อาจจะต้องประหลาดใจที่มีคนพูดถึงแบรนด์ของคุณในทวิตเตอร์แบบคาดไม่ถึงครับ หัวใจของความสำเร็จในเรื่องนี้ก็คือ ต้องสร้างให้เกิดการสื่อสารสองทางที่น่าเชื่อถือและจริงใจให้กับผู้บริโภคครับ

§ เป็นช่องทางในการจัดกิจกรรมทางการตลาดโดยการให้ผู้บริโภคส่งข้อความตอบคำถาม ความคิดเห็น หรือส่งต่อข้อมูลที่บางอย่างเพื่อสิทธิในการร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งต้องถือว่าได้ผลกว่าการวางโฆษณาบนสื่อต่างๆ หรือแม้แต่สื่อออนไลน์เอง เพราะทวีตเตอร์เป็นการสื่อสารกับกลุ่มคนที่สมัครใจเข้ามาเลือกติดตาม จึงนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีทัศนคติสอดคล้องกับแบรนด์ และนับว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทรงพลังครับ

§ ใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในหมู่ผู้บริโภค หรือคนที่มีความสนใจในด้านเดียวกันอย่างเช่นทวีตเตอร์แฟนคลับของทีมฟุตบอลต่างๆ ทวีตธรรม สำหรับผู้ที่สนใจด้านธรรมะ หรือทวีตเตอร์แหล่งรวมข้อมูลของนักการตลาดอย่างเช่น www.mkttwit.com ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตลาดบนทวิตเตอร์ครับ

ทวีตเตอร์ก็เหมือนกับชุมชนทั่วไปซึ่งมีข้อควรระวังอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะคนในชุมชนอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีแฝงตัวเข้ามาได้ การเข้าไปในแอพลิเคชั่นอิสระอื่นๆที่เชื่อมโยงกับทวิตเตอร์ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน ไม่ควรให้ข้อมูลรหัสผ่านหากดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจทำให้เกิด SPAM หรือทวีตขยะตามมาได้ หากเป็นผู้ที่มีคนติดตามมากก็ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้คนอื่นเดือดร้อนตามกันไปหมด

ทวีตเตอร์มีความเป็นสาธารณะและสามารถสืบค้นได้ ควรใช้ความระมัดระวังและรับผิดชอบต่อคำพูดของคุณ ตั้งสติทุกครั้งก่อนทวีตครับ

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คนติดทวิตเตอร์ (Twitter Addicts)

หากคนที่อยู่ข้างๆคุณมีอาการแปลกๆ ไม่ค่อยพูดค่อยจา แต่ชอบหยิบเจ้า แบล็คแบรี่ หรือ ไอโฟนขึ้นมาถ่ายภาพแล้วพิมพ์โน่นพิมพ์นี่อยู่ตลอดเวลาก็สงสัยไว้ได้เลยว่านั่นอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่ติดทวิตเตอร์ (Twitter Addicts) ครับ

ทวิตเตอร์ (Twitter.com) คือการให้บริการเครือข่ายชุมชนออนไลน์ (Social Network) ซึ่งเป็นลักษณะของการส่งข้อความสั้นๆ ที่เรียกว่าทวีต (Tweet) ความยาวครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษร ให้คนในชุมชนได้ติดตามกัน ผ่านทางอุปกรณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต

ทวิตเตอร์ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบของการสื่อสารที่เป็นการผสมผสานข้อดีของวิธีการสื่อสารต่างๆบนโลกออนไลน์ และการสื่อสารไร้สายเข้าไว้ด้วยกันจนกลายเป็นกระบอกเสียงขนาดใหญ่ที่ผู้คนให้ต่างติดตามให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่สื่ออื่นๆ ก็มีให้ติดตามกันอยู่อย่างดาษดื่น ทั้งนี้เนื่องมาจากลักษณะเด่นเฉพาะตัวของทวิตเตอร์ดังนี้ครับ

· ทวิตเตอร์มีลักษณะคล้าย News feed บนออนไลน์ หรือ SMS News บนโทรศัพท์มือถือ ข้อดีข้อแรกคือผู้ใช้สามารถสมัครใช้บริการของทวิตเตอร์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ หลังจากนั้นก็สามารถเลือกติดตามข่าวสารจากสำนักข่าวต่างๆทั่วโลก ทั้งของสำนักข่าวต่างในประเทศไทย และต่างประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น USA Today, Financial Times, CNN ซึ่งนำเสนอข้อมูลในแง่มุมที่แตกต่างกัน และมีความทันเหตุการณ์ชนิดนาทีต่อนาที นอกจากสำนักข่าวแล้ว เรายังสามารถติดตามผลกีฬาที่เราสนใจไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล กอล์ฟ เทนนิส ได้อย่างทันเหตุการณ์อีกด้วย

· ที่สำคัญก็คือคุณเองก็สามารถเป็นสำนักข่าวที่สร้างเนื้อหาสาระ (Content) ที่น่าสนใจให้กับผู้ติดตามได้ เราสามารถติดตามคนดังที่เราชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอย่าง @PM_Abhisit ของนายกอภิสิทธิ์ (เครื่องหมาย @ ใช้นำหน้า user name หรือชื่อของคนที่เราอ้างถึงเวลาทวีตถึงกันบน Twitter ครับ) หรือจะเป็นคนในวงการบันเทิงอย่าง @Oprah ของ โอเปร่า วินฟรีย์ หรือนักร้องสุดเปรี้ยวซ่าอย่างเลดี้ กาก้า @ladygaga คนในวงการบันเทิงของไทยก็ทวีตกันด้วยและมีคนติดตามมากขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน

· ทวิตเตอร์เปิดโอกาสให้คุณสร้างเว็บบอร์ดของคุณเองได้ ทวิตเตอร์ของคุณก็เปรียบเหมือนเว็บบอร์ดที่มีข่าวสารและผู้คนแสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ แต่เป็นเว็บบอร์ดที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับตัวคุณเอง เพราะคุณสามารถที่จะเลือกติดตาม (Following) ข่าวของใครก็ได้ หากรู้สึกว่าไม่ถูกใจ หรือไม่ชอบมาพากลก็สามารถเลิกติดตาม (Unfollow) ได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้คุณจึงสามารถเลือกรับข้อมูลข่าวสารเฉพาะที่ต้องการเท่านั้น หากมีข้อความที่มีลักษณะเป็น Spam หรือขยะเราก็สามารถเลิกติดตามได้ทันที และสามารถแจ้ง Twitter ให้ตรวจสอบผู้ใช้คนนั้นได้ด้วย ต่างจากอีเมล์ที่การป้องกัน Spam mail หรือเมล์ขยะทำได้ยากเพราะจะมีการปลอมตัวและบุกรุก (Intrude) เข้ามาหาเราได้ตลอดเวลา

· ผู้ติดตามของคุณ (Followers) อาจเป็นคนที่คุณไม่รู้จัก หรือไม่ได้ติดตามเขาอยู่ก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้คุณอาจอนุญาตให้คนนั้นติดตามคุณหรือสามารถ Block ไม่ให้คนใดคนหนึ่งติดตาม Twitter ของคุณก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำการ Lock account ของคุณโดยที่ไม่ว่าใครที่อยากจะติดตามต้องได้รับการอนุญาตจากคุณก่อนก็ได้ Twitter จึงเป็นการสื่อสารสองทางที่กลุ่มข่าวสารที่เรารับ กับกลุ่มคนที่รับข่าวสารของเราอาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่เหมือนกัน มีจำนวนไม่เท่ากัน ต่างจากการสื่อสารผ่านทาง Social Network อื่นๆ อย่าง Facebook หรือ Hi5

· Twitter ยังเปิดโอกาสให้คุณส่งข้อความถึงคนที่ติดตามคุณได้โดยตรง (Direct Message – DM) ในแบบ One-to-One หรือ หนึ่งต่อหนึ่งในลักษณะเดียวกันกับ Instant Message หรือการแชท (Chat) ในรูปแบบออนไลน์ทั่งไปนั่นเอง ข้อดีที่แตกต่างจากการแชทที่อื่นๆก็คือคุณสามารถเข้าไปดู Profile ของคนที่คุณกำลังคุยด้วยได้ระดับหนึ่งเช่น ภาพ หรือ คำบรรยายสรรพคุณส่วนตัว ประวัติการส่งข้อความ (Timeline) คนที่เขาติดตาม และคนที่ติดตามเขา ถึงแม้ทั้งหมดที่ว่ามานี้จะ fake หรือทำการเสแสร้งขึ้นมาได้แต่ก็ถือว่าสามารถช่วยให้เรารู้จักคนที่เราคุยด้วยได้ในระดับหนึ่งที่เหลือก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจกันเองครับ

สำหรับ กฎ กติกา มารยาท ของการใช้ทวิตเตอร์นั้นก็อย่างเช่น ควรให้ข้อมูลเบื้องต้นให้ตรงกับความเป็นตัวตนจริงให้มากที่สุด ข้อเสียอย่างหนึ่งของทวิตเตอร์ก็คือการปลอมตัวนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะการสมัครทำได้ง่ายเพียงแค่ตั้งชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และใส่อีเมล์ที่ใช้งานอยู่เท่านั้นเอง คนดังๆ อย่าง Steve Jobs, Bill Gates, Warren Buffet ไปจนถึง ประธานาธิบดี Barack Obama จึงมีบัญชีผู้ใช้ Twitter อยู่หลายบัญชีซึ่งเป็นของผู้แอบอ้าง

อย่างไรก็ตามเราอาจตรวจสอบเบื้องต้นได้จากจำนวนผู้ติดตาม บัญชีที่มีผู้ติดตามมากที่สุดน่าจะเป็นของจริง นอกจากนี้อาจสังเกตจากวิธีการตอบคำถาม ภาษาที่ใช้ว่าน่าจะใช่คนที่เราอยากติดตามหรือไม่

มารยาทอื่นๆก็อย่างเช่นหากมีการพูดคุยเรื่องส่วนตัวกับคนที่ติดตามเราก็ควรใช้ Direct Message แทนการทวีตตามปกติเพราะคนอื่นๆจะได้ไม่ต้องอ่านเรื่องที่พวกเขาไม่ได้สนใจครับ นอกจากนี้การทวีตก็ไม่ควรถี่เกินไปเพราะจะทำให้ผู้ที่ติดตามเราพลาดข่าวสารอื่นๆได้และทำให้รู้สึกไม่อยากตามเราในที่สุดครับ

การตลาดบนทวิตเตอร์ (Twitter Marketing) นับเป็นเรื่องที่นักธุรกิจและนักการตลาดทั้งหลายให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้เพราะ Twitter เป็นการสื่อสารหลายทางที่ทรงประสิทธิภาพ นักการตลาดสามารถใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้า รับฟังความคิดเห็น ทำการสำรวจความคิดเห็น ทำโปรโมชั่นผ่านทางทวิตเตอร์ และจัดกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย ลองนึกดูสิครับว่าเวลาที่คนที่มีผู้ติดตามเป็นล้านคนพูดอะไรขึ้นมาครั้งหนึ่ง มันจะส่งผลกระทบมากมายมหาศาลขนาดไหน ยิ่งสร้างกลุ่มแฟนๆผู้ติดตามได้มากแค่ไหน กระบอกเสียงก็จะใหญ่ขึ้น และสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น

การตลาดบนทวิตเตอร์นั้นถือเป็นกิจกรรม CRM (Customer Relationship Management) ที่สามารถทำงานร่วมกับการสื่อสารและกิจกรรมการตลาดในรูปแบบอื่นๆ ได้เป็นอย่างไรก็ตามการสื่อสารนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี พึงพอใจของลูกค้าและผู้ที่ติดตาม หากทำการขายของมากเกินไปจนกลายเป็นการยัดเยียดแล้วลูกค้าก็อาจหนีไปได้ในทันที “Too much is no good.” ครับ

เช่นเดียวกับการตลาดโดยทั่วไป การใช้ทวิตเตอร์นั้นก็ต้องมีความชัดเจนว่าต้องการสื่อสารเรื่องอะไรกับใคร ด้วยภาษาแบบใด จึงจะสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจะเจาะลึกเรื่องการตลาดและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทวิตเตอร์ให้ฟังกันในโอกาสต่อไปครับ

จากที่ได้ลองใช้ทวิตเตอร์อย่างจริงจังมาไม่นาน จากที่เป็นช่องทางในการรับข่าวสารและนักการตลาด นักคิด นักเขียนที่ชื่นชอบ ผมก็เริ่มทวีตและมีเพื่อนมากขึ้นแน่นอนทั้งที่เป็นสนใจติดตามเราจริงๆ และผู้ที่เข้ามาติดตามเราเพื่อเรียกร้องความสนใจเพื่อจะได้โฆษณาขายของ

ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ในอีกฟากหนึ่งของโลกที่มีคลื่นความคิดตรงกัน คนในวงการที่ไม่รู้จักกันมาก่อนแต่ทวีตกันจนมาได้เจอตัวจริงกันในที่สุด เช้านี้ผมได้รับขนมมาให้ลองชิมจากเพื่อนใหม่ ที่กำลังจะกลายเป็นเจ้าของกิจการ ^_^

ทุกวันนี้กิจวัตรของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผมเลือกที่จะหยิบ Blackberry ขึ้นมาอ่านข่าวในทวิตเตอร์ ก่อนที่จะเปิดดูหนังสือพิมพ์ไปเสียแล้วติดตามและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางทวิตเตอร์กับผมได้ที่ @rockdaworld หรือค้นหาจากชื่อจริง Ron Kamnuanthip ก็ได้ครับ

ท่ามกลางผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่กำลังจะมีจำนวนมากกว่าประชากรของประเทศไทยในเวลาอีกไม่นานนั้นมีทั้ง ข่าวสาร บันเทิง ข้อมูลทั้งสาระ และไร้สาระ มิตรภาพ การหลอกลวง คำแนะนำดีๆ การเสนอขายสินค้า แง่คิดและมุมมองอันหลากหลาย ให้คุณได้เลือก ได้ติดตาม ได้รับเสพกัน ส่วนใครจะได้หรือเสียประโยชน์จากทวิตเตอร์มากน้อยเพียงใดก็คงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและทางเลือกของแต่ละคน

แต่ที่แน่ๆเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกตัวว่าชอบที่จะทวีต มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง ก็โปรดจงรู้ไว้ว่าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ติดทวิตเตอร์เข้าอย่างงอมแงม (เหมือนกับอีกหลายล้านคนทั่วโลก) แล้วละครับ

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

การตลาดยุคดิจิตอล (Marketing in Digital Age)

การตลาดในยุคดิจิตอล ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สื่อที่ใช้ก็ต้องปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้บริโภคด้วย นั่นคือเหตุผลที่ทำให้สื่อใหม่ (new media) อย่างสื่อดิจิตอลเติบโตอย่างรวดเร็วและมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หัวใจสำคัญในการเลือกสื่อให้ได้ผลและคุ้มค่ามีดังต่อไปนี้

1. รายล้อมกลุ่มเป้าหมาย (Create multiple touch points) สิ่งแรกที่นักการตลาดต้องทราบดีก็คือวิถีชีวิต (lifestyles) ของกลุ่มเป้าตนเองเป็นแบบใด ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ใดบ้าง ใช้เวลาในการพักผ่อนอย่างไร รับสื่อใดบ้าง หลังจากนั้นจึงทำการวางสื่อต่างๆ ให้อยู่ในจุดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด เพราะการใช้สื่อใดสื่อหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้น โอกาสที่จะพลาดเป้า หรือโอกาสที่กลุ่มเป้าหมายอาจจะลืมสิ่งที่เราต้องการสื่อก็เป็นไปได้มากครับ

2. วางสื่อเก่าอย่างชาญฉลาด (Place traditional media wisely) ถึงแม้สื่อดิจิตอลจะมาแรง แต่สื่อเก่าก็ยังมีความสำคัญ แม้แต่โฆษณาดาวน์โหลดเพลงและภาพต่างๆเองก็ยังใช้สื่อดั้งเดิมอย่างเช่น โบรชัวร์ในร้านสะดวกซื้อ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ สื่อกลางแจ้งอื่นๆ ทั้งนี้เพราะสื่อเก่าสามารถมองเห็นได้อย่างเต็มตาถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจดูก็ยังเห็นได้ ทั้งนี้วิธีการสื่อสารถื่อว่ามีความสำคัญมาก เพราะต้องเรียกร้องความสนใจ (Catch attention) และสื่อข้อความสำคัญ (Key message) ได้อย่างชัดเจน สื่ออย่างวิทยุและโทรทัศน์ก็ยังถือว่ามีความสำคัญมากเพราะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ (Make believe) ให้ผู้บริโภคได้ดีกว่าสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าาถ้าสินค้าใดออกโทรทัศน์ได้ก็แสดงว่าเจ๋งจริงหรือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่การออกสื่อใหม่นั้นใครๆก็ทำได้

3. สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคผ่านสื่อใหม่ (Interact with consumer through new media) การใช้สื่อใหม่ที่ได้ผลมิใช่มีเพียงการโฆษณา แต่เป็นการให้ข้อมูล ข่าวสาร ภาพ วีดีโอ ที่น่าสนใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ คอนเทนต์ หรือตัวสินค้านั้นๆ หากผู้รับชมให้ความสนใจก็จะเกิดการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ เครือข่ายชุมชนออนไลน์ (on-line social network) ไม่ว่าจะเป็น hi5, facebook, twitter หรืออื่นๆ ก็เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพทางการตลาด เพราะสามารถสื่อถึงคนในเครือข่ายได้ในแบบทวีคูณ

4. อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ (Make it convenient for the consumer) หลังจากที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้า สั่งจองบริการ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ไม่อย่างนั้นแล้วผู้บริโภคอาจลืม หรือเปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าหรือบริการทดแทนอื่นๆ ในกรณีของธุรกิจเพลง หลายครั้งที่ผู้บริโภคได้รับสือต่างๆจนเกิดความชื่นชอบแต่กลับไม่สามารถหาซื้อหรือดาวน์โหลดเพลงผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ ผ่านเว็บไซต์ที่ถูกต้องได้ สุดท้ายก็กลายเป็นโหลดเถื่อน ดังนั้นหน้าที่ของนักตลาดที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้ก็คือการสร้างช่องทางการขายที่มีความสะดวก ง่าย เร็ว ดี ให้กับผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดครับ

หากทำได้ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จกับนักการตลาดยุคดิจิตอลอย่างคุณด้วยครับ!